วันที่ 27 ตุลาคม 2564 บุคลากร นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.เพียรศักดิ์ ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ รศ.ดร.ลำปาง แม่นมาตย์ คณบดีวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ อ.ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษฏิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ผศ.ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ ผศ.ดร.พญ.วิยะดา ปัญจรัก รองผู้อำนวยการคลังเลือดกลาง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ รศ.ดร.อรทัย เพียยุระ  คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผศ.ดร อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์  คณบดีคณะเทคโนโลยี นักศึกษา มงคล คำคนซื่อ นายกองค์การนักศึกษา มข. และผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี  ผู้อำนวยการกองกฎหมาย ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร บุคลากรนักศึกษา ภายใต้การประสานงานดำเนินกิจกรรมโครงการโดยกองสื่อสารองค์กร ได้เดินทางเพื่อนำสิ่งของเครื่องอุโภคบริโภคและของใช้ที่จำเป็นที่ได้จัดเตรียมไปด้วยงบประมาณมหาวิทยาลัยและเงินกองทุนมอดินแดง คลังเลือดกลาง พร้อมสิ่งของที่ได้รับการบริจาคซึ่งได้เปิดรับบริจาคที่อาคารองค์กรกิจกรรมนักศึกษาและคณะหน่วยงานต่างๆที่สมทบในกิจกรรม “มข.ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย” ในโครงการ “มหาวิทยาลัยขอนแก่น ห่วงใย ช่วยเหลือสังคม ในภาวะวิกฤต” โดยจัดทำเป็นถุงยังชีพพร้อมเจลแอลกอฮอล์จากคณะเภสัชศาสตร์ และหน้ากากอนามัยโดย บ.มิสลิลลี่ จำกัด และ น้ำดื่มตราสิงห์ โดยบริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด มอบผู้ประสบภัย  ณ ตำบลบึงเนียม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นจำนวนของบริจาค รวม 475 ชุดตามจำนวนครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้ยังมีสิ่งของบริจาคซึ่งมาจากองค์การนักศึกษา 100 ชุดและจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์475 ชุด รวม 873 ชุด ไปยังบ้านบึงเนียม บ้านบึงสวางค์ บ้านคุยโพธิ์ และ บ้านปากเปือย

  คณะออกเดินทางออกจากสำนักงานอธิการบดีในเวลา 9.00 น. โดยเดินทางไปยังจุดหมายที่1 ณ บ้านบึงเนียม อ.เมือง จ.ขอนแก่นเพื่อมอบสิ่งของจำนวน 405 ชุด ได้มี นาย ณัฐพงศ์ เดชแพง นายกเทศมนตรีตำบลบึงเนียม นายสวาท แสนส่อง กำนันตำบลบึงเนียม ให้การต้อนรับพร้อมประชาชนจำนวนมาก จากนั้น รศ.เพียรศักดิ์ ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์จึงเป็นผู้แทนกล่าวต่อประชาชนในนามมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะจึงได้เดินทางต่อไปยังบ้านบึงสวางค์ เพื่อมอบสิ่งของจำนวน 241 ชุด  บ้านคุยโพธิ์ เพื่อมอบสิ่งของจำนวน 85 ชุด ซึ่งมีรศ.ดร.ลำปาง แม่นมาตย์ คณบดีวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการเป็นผู้แทนกล่าวต่อประชาชน   และจุดมอบสิ่งสุดท้ายของบ้านปากเปือย ซึ่งมีสภาพความเดือดร้อนน้ำท่วมไร่นาที่พักอาศัยมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมากออกมารอรับความช่วยเหลือ ซึ่งในจุดนี้ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เดินทางมาด้วยตัวเองเพื่อส่งมอบความช่วยเหลือ
        หลังการส่งมอบสิ่งของ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวว่าถึงเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการดำเนินการครั้งนี้ว่า  “จากที่เราได้รับรู้ถึงสถานการณ์ความเดือดร้อนของประชาชนชาวจังหวัดขอนแก่นที่มาจากอุทกภัย และจากการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความผูกพันกับประชาชนอยากช่วยแบ่งเบาปัญหาความเดือดร้อนจึงก่อให้เกิดโครงการที่มาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายรวมทั้งนักศึกษาที่จะนำสิ่งของจำเป็นออกมาช่วยเหลือกันเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคโดยในรอบนี้เราสามารถช่วยได้จำนวน4หมู่บ้าน ที่พอจะเป็นส่วนช่วยให้กำลังใจแก่ประชาชนในเบื้องต้น สำหรับในระยะยาวนั้นทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นยังมีอีกหลายคณะวิชาที่พร้อมจะลงมาช่วยเหลือประชาชนเพื่อการฟื้นฟูหลังน้ำลด แต่ทั้งนี้หากสถานการณ์อุทกภัยยังไม่ดีขึ้นทางมหาวิทยาลัยก็อาจจะมีโครงการช่วยเหลือเพิ่มเติมได้อีก”

   นาย ณัฐพงศ์ เดชแพง นายกเทศมนตรีตำบลบึงเนียม กล่าวแสดงความรู้สึกต่อการได้ออกมาต้อนรับคณะจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า ชาวตำบลบึงเนียมได้รับความเดือดร้อนแทบทุกครั้งที่มีภาวะน้ำมาก สำหรับในปีนี้เกิดขึ้นถึง 2 ระลอกคาดว่ามีประชาชนเดือดร้อนกว่า400ครัวเรือนต้องขอบคุณที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ได้รับรู้มองเห็นถึงความเดือดร้อนและได้ระดมความช่วยเหลือออกมาให้กับประชาชนครั้งนี้
      นายสวาท แสนส่อง กำนันตำบลบึงเนียม กล่าวหลังจากได้เป็นตัวแทนประชาชนในการรับมอบสิ่งของเพื่อไปแจกจ่ายต่อยังประชาชนในพื้นที่ว่า ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นแทนประชาชนที่มาให้การช่วยเหลือครั้งนี้ รวมทั้งนักศึกษาที่ยังห่วงใยพ่อแม่พี่น้องแล้วพากันออกมาดูแลจึงฝากความปรารถนาดีมาให้ลูกหลานในการศึกษาหาความรู้ให้สำเร็จตามตั้งใจเพื่อจะได้นำความรู้ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่เช่นเรื่องความเดือดร้อนอุทกภัยเช่นนี้เป็นต้น
      เมื่อคณะเดินทางมาถึงยังจุดมอบสิ่งของบ้านปากเปือยซึ่งมีน้ำท่วมสูง คณะผู้บริหารและตัวแทนนักศึกษานำโดย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีได้นั่งเรือท้องแบนเพื่อเข้าไปเยี่ยมประชาชนและสำรวจความเสียหายของพืชพันธุ์ของประชาชนที่จมน้ำเสียหาย

นาย มงคล คำคนซื่อ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกในการเป็นตัวแทนเพื่อการส่งมอบน้ำใจของนักศึกษามาสู่ประชาชนครั้งนี้ว่า ในฐานะที่เป็นทีมขององค์การนักศึกษาและสภานักศึกษาที่เป็นตัวแทนของนักศึกษาพวกเราเล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ อีกทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นเราเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมเราจึงรับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ในการอุทิศตัวเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหา ซึ่งทางนักศึกษาเองก็ได้ริเริ่มโครงการ มข.ปันน้ำใจช่วยภัยน้ำท่วมด้วยการเปิดรับน้ำใจมาอย่างต่อเนื่องนับแต่เริ่มเหตุการณ์และได้นำสิ่งของไปมอบแล้วถึง4ครั้ง สำหรับครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่พวกเราจะได้ออกมาเพื่อทำหน้าที่ส่วนหนึ่งในฐานะที่เป็นนักศึกษาในสถาบันการศึกษาที่มีความตั้งใจที่จะดูแลประชาชนและสังคม แต่ทั้งนี้มันได้ก่อให้เกิดประสบการณ์ที่ดีของนักศึกษาที่ได้ร่วมโครงการในการคิดวางแผนการทำงานและการทำงานเป็นทีมภายใต้การเรียนรู้ในการประสานงานกับภาคส่วนต่างๆเพื่อให้งานลุล่วง
     “สิ่งที่มีค่าสำหรับพวกเรามากคือประสบการณ์ชุมชนที่เราได้มาเห็นความเดือดร้อนและปัญหาที่แท้จริงของประชาชนซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาจากภัยธรรมชาติ ยังมีอีกหลายสิ่งที่เราควรได้มีประสบการณ์ตรงจากการได้ออกมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่หาไม่ได้จากตำราในห้องเรียน”นาย มงคล คำคนซื่อ กล่าว

 ในส่วนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีการดำเนินกิจกรรมโครงการเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนในทุกปีที่มีเหตุอุทกภัยในพื้นที่โดยเป็นการประสานการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัยรวมทั้งองค์การนักศึกษาที่เป็นศูนย์กลางในการระดมน้ำใจจากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปส่งมอบยังพื้นที่ ซึ่งปีนี้ ได้ดำเนินกิจกรรมภายใต้ชื่อโครงการมหาวิทยาลัยขอนแก่น ห่วงใย ช่วยเหลือสังคมในภาวะวิกฤต ประจำปีงบประมาณ 2565  ตามแนวทางยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2563 – 2566 ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การปรับเปลี่ยนการบริการวิชาการ (Academic Service Transformation)  ในเรื่องการส่งเสริมการบริการวิชาการเพื่อตอกย้ำบทบาทหน้าที่ “การอุทิศเพื่อชุมชนและสังคม” (Mindset of Social Devotion)   การสร้างโครงการบริการวิชาการใหม่ที่เป็นการทำงานร่วมกันของคณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคม ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่ง เรียนรู้และภูมิปัญญาของสังคม (Center of Social Wisdom)  และการปรับเปลี่ยนการบริการวิชาการจากความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) สู่การสร้างคุณค่าร่วมกัน (Creating shared value : CSV)  โดยเกิดคุณค่าทั้งผู้ให้และผู้รับ

ข่าว : อุดมชัย สุพรรณวงศ์ กองสื่อสารองค์กร
ภาพ : อุดมชัย สุพรรณวงศ์ อรรถพล ฮามพงษ์ ณัฐวุฒิ จารุวงศ์
บริพัตร ทาสี และณัฐพงษ์ ชำนาญเอื้อ