วันที่ 19 มีนาคม 2567  ฝ่ายกิจการพิเศษ โดยกองกฎหมาย สำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการอบรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ  เรื่อง “การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย” โดยได้รับเกียรติจาก  รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  เป็นประธานในพิธี
และท่านวิฑูร วิมลเศรษฐ รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 เป็นวิทยากร ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 3 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

อ.ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่าย กิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ จึงกำหนดนโยบายและการบริหารงานโดยตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญในการนำองค์กรและบริหารงานให้สอดรับกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต เป็นธรรม และคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัย พ.ศ.2567 – 2570 ประเด็นยุทธศาสตร์ ที่ 10 การบริหารตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีและการชี้นำสังคม โดยนำหลักการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนองรับนโยบาย  “No Gift Policy” และ “Anti-Bribery Policy” มาถ่ายทอดและนำไปใช้กับทุกส่วนงาน

โครงการ ในครั้งนี้จึงจัดขึ้นเพื่อให้ผู้บริหาร บุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะได้รับการพัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย” เพื่อให้การปฏิบัติงานในทุกระดับเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย  โดยได้รับเกียรติจาก ท่านวิฑูร วิมลเศรษฐ รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 เป็นวิทยากรในครั้งนี้ และมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 194 คน

ขณะที่ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า นับเป็นอีกวาระหนึ่งที่เราชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะได้รับโอกาสอันสำคัญ ที่จะร่วมกันสร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจเรื่องหลักกฎหมายเกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย เพื่อนำไปเป็นกรอบและแนวทางการปฏิบัติงานของบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

“การอบรมในวันนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญที่ทุกภาคส่วนจะได้ตระหนักรู้ถึงสำนึกทางจริยธรรม ตลอดจนข้อควรปฏิบัติ ข้อพึงระวังและละเว้นในการปฏิบัติงาน ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อการอบรมเสร็จสิ้นลง ผู้เข้าร่วมอบรมทุกท่านจะมีความรู้ความใจเข้าใจ เกี่ยวกับหลักการการรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อันเนื่องมาจากการปฏิบัติงานในตำแหน่งได้ดียิ่งขึ้น”

สำหรับบรรยากาศการอบรมในวันนี้เป็นไปด้วยความเข้มข้นตั้งแต่ช่วงเช้า โดย ท่านวิฑูร วิมลเศรษฐ รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 วิทยากร ได้ให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และกฎหมายที่มีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น พร้อมยกตัวอย่างเกี่ยวกับกรณีศึกษาต่าง ๆ เพื่อเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับการพิจารณาความผิดในการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ “การปฏิบัติตามนโยบาย No Gift Policy และการรายงานการรับทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามกฎหมาย” ในช่วงบ่ายอีกด้วย

 

“ในกรณีจัดซื้อจัดจ้าง หากผู้เกี่ยวข้องไม่ตรวจสอบให้ดี เมื่อเกิดความเสียหายอาจเข้าข่ายความผิดทางแพ่ง ฐานประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่ในกรณีรู้เห็น หรือได้รับผลประโยชน์ เช่น เงินทอน อาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  และเป็นความเสี่ยงที่อาจผิดวินัยได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการตรวจสอบและพิจารณาให้รอบคอบ ไม่ใช่เพียงชื่อโครงการ แต่ควรพิจารณารายละเอียดโครงการ วัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ รวมถึงการสืบราคา และการวางแผนของบประมาณก็เป็นสิ่งจำเป็น

ขณะที่ ผศ.ดร.สมพงษ์ สิทธิพรหม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรักษาความปลอดภัย หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรม ระบุว่า การจัดอบรมในครั้งนี้เป็นประโยชน์มากสำหรับทั้งผู้บริหารและบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้ได้ทราบถึงหลักการที่ถูกต้องและนำไปสู่การปรับใช้ในการทำงานได้อย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้มีการพัฒนาอยู่เสมอ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการอัปเดตข้อมูลให้ทันสมัย

“ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ควรจะแม่นยำในหลักการเหล่านี้ เพื่อเป็นที่พึ่งของคณะ และหน่วยงานต่าง ๆ ในกรณีที่ต้องการคำแนะนำ ซึ่งหากมีหลักการที่ชัดเจน และทุกหน่วยงานในองค์กรปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะผู้บริหารซึ่งเป็นหมุดหมายสุดท้ายในการตัดสินใจประเด็นต่าง ๆ ก็จะช่วยให้การทำงานราบรื่นและผู้ปฏิบัติงานมีความสุขในการทำงานได้ในที่สุด”

-ขอบคุณ ภาพและข่าวจากคุณ ผานิต ฆาตนาค กองสื่อสารองค์กรฯ