ฟ้องติดตามเอาทรัพย์คืนตามคำพิพากษาเป็นคดีไม่มีอายุความ

0
7736

ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เงื่อนไขที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ การยื่นฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ในคดีแต่ละประเภท เช่น การฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

การฟ้องคดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดต้องยื่นฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ส่วนกรณีมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองใหยื่นฟองภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวก็ได้กำหนดข้อยกเว้นเอาไว้ในมาตรา 52 ว่า การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคลจะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้ และการฟ้องคดีปกครองที่เมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว หากศาลเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเองหรือคู่กรณีมีคำขอ ศาลจะรับไว้พิจารณาก็ได้ อย่างไรก็ตามหากเป็นกรณีเป็นการฟ้องคดีประเภทที่กฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาหรืออายุความในการฟ้องคดีไว้ เช่น การฟ้องกรณีติดตามเอาทรัพย์สินของตนคืนนั้น กรณีนี้เช่นนี้ ศาลปกครองจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้หรือไม่ วันนี้แอดมินมีข้อมูลมานำเสนอครับ
…. ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีอยู่ว่า ผู้ฟ้องคดีและสามีถูกจับกุมและฟ้องต่อศาลจังหวัดในข้อหาร่วมกันนำเข้ายาเสพติดให้โทษประเภท 1 ซึ่งศาลจังหวัดพิพากษาลงโทษจำคุกสามีของผู้ฟ้องคดี 40 ปี และยกฟ้องผู้ฟ้องคดี ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและคดีถึงที่สุด โดยศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้คืนทรัพย์สินบางรายการที่ยึดไว้ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีและสามีถูกดำเนินคดีดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นเรื่องเพื่อขอรับทรัพย์สินคืนต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และสถานีตำรวจภูธร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) เพื่อขอรับทรัพย์สินคืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่กลับไม่ได้รับทรัพย์สินคืน โดยได้รับแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลทรัพย์สินในขณะนั้นได้เกษียณอายุและเสียชีวิตไปแล้ว และอยู่ระหว่างสอบสวนข้อเท็จจริงว่าทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ที่ใด ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนทรัพย์สินที่ยึดไว้หรือหากคืนไม่ได้ ให้ใช้ราคาทรัพย์สินแทน
…. ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการเพื่อขอรับทรัพย์สินคืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ มิใช่ขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอีกต่อไป แต่ถือเป็นขั้นตอนในการกระทำทางปกครอง เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ยื่นเรื่องขอรับทรัพย์สินคืนจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 แต่ไม่ได้รับคืน โดยปรากฏว่าทรัพย์พิพาทดังกล่าวสูญหายไป ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ซึ่งแม้การที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะมิได้คืนทรัพย์พิพาทให้ผู้ฟ้องคดีจะเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี อันก่อให้เกิดสิทธิที่จะเรียกให้ส่งมอบทรัพย์สินคืนภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี 1 ปี ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ฯ ก็ตาม แต่กรณีนี้ ผู้ฟ้องคดีในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้โดยชอบด้วยกฎหมายได้ ตามมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีไว้ การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง จึงไม่อยู่ในบังคับเรื่องเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดี ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาได้ แม้จะพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีกรณีการกระทำละเมิดตามมาตรา 51 ดังกล่าวแล้วก็ตาม
…. ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งให้รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา และให้ศาลปกครองชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดี หากคำฟ้องนี้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งการฟ้องคดีประการอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
_____________
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คร. 170/2562

ขอบคุณเพจ กฎหมายใกล้มอ