วันนี้ ( 25 เมษายน 2565 ) มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยกองกฎหมาย จัดโครงการอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่อง “หลักกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง” โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวเปิดงาน อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษฏ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงาน และ ดร.ฤทัย หงส์สิริ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ ทั้งนี้มีผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารส่วนงาน หน่วยงาน และบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าร่วมอบรม ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 3 สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และอบรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (KKU Zoom Video Conferencing)
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นดร.ฤทัย หงส์สิริ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า นับเป็นอีกวาระหนึ่งที่เราชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะได้รับโอกาสอันสำคัญ ในการที่จะร่วมกันสร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจเรื่องหลักกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เพื่อนำไปพัฒนาระบบการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้หลักธรรมาภิบาล ดังที่ท่านผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ได้กล่าวรายงานไปแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าหลักกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัย ควรจะตระหนักและให้ความสำคัญ เพราะเหตุที่อาจถือได้ว่าสัญญาทางปกครองมีความสำคัญสองนัยด้วยกันกล่าวคือ นัยแรกสัญญาทางปกครองถือเป็นจุดเริ่มต้นของภารกิจที่มีความสำคัญซึ่งส่งผลต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยและประเทศชาติ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างหรือก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค สัญญาการให้ทุนการศึกษาวิจัย ทั้งสำหรับบุคลากรและนักศึกษา แม้กระทั่งการจ้างผู้ปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งความสำคัญนัยแรกนี้จะเห็นได้ว่าเมื่อใดก็ตามที่สัญญาปกครองกำเนิดขึ้น เท่ากับว่าระบบการให้บริการสาธารณะ หรือกลไกต่างๆที่จะทำให้การบริการสาธารณะบรรลุผลนั้น ได้เกิดขึ้นตามมาด้วย อันจะส่งผลต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานตลอดจนการพัฒนาให้สังคมและประเทศชาติเจริญขึ้นตามลำดับ ส่วนอีกนัยหนึ่งนั้น สัญญาทางปกครองก็มักเป็นจุดเริ่มต้นของข้อพิพาทจนบางครั้งนำไปสู่การวินิจฉัยของศาล เช่นการฟ้องร้องคดีอันเนื่องมาจากการปฏิบัติที่ผิดสัญญาทางปกครองที่มักจะพบเห็นบ่อยครั้งเช่น คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาก่อสร้าง หรือการฟ้องร้องตามสัญญาให้ทุนเป็นต้น ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ถือเป็นภารกิจด้านสัญญาทางปกครองนั้น ย่อมควรเป็นไปโดยความมุ่งหมายให้เกิดผลในนัยแรก และลดผลของนัยที่สอง โดยจัดให้มีกระบวนการทำสัญญาหรือการบริหารสัญญา ให้เป็นไปโดยชอบด้วยทฤษฎี หลักกฎหมาย ตลอดจนแนวปฏิบัติและแนวคำวินิจฉัยของศาล ซึ่งจะส่งผลให้สัญญาทางปกครองที่จัดทำนั้นสามารถนำไปปฏิบัติได้โดยปราศจากปัญหา ลดการร้องเรียน และข้อพิพาทที่จะกลายเป็นคดีความไปสู่การวินิจฉัยของศาลได้ และในท้ายที่สุดย่อมส่งผลให้การดำเนินการตามสัญญาทางปกครองเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่มุ่งเน้นประโยชน์สาธารณะและความต่อเนื่องของการให้บริการแก่นักศึกษาและประชาชนโดยรวม
อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษฏ์
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษฏ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีฐานะเป็น “หน่วยงานทางปกครอง” ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่งผลให้การดำเนินงาน ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการด้านสัญญา ซึ่งส่งผลให้สัญญาต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยเข้าเป็นคู่สัญญานั้น ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง เช่น สัญญารับทุนการศึกษา ทุนการวิจัย ทุนอื่นๆ สัญญาอนุญาตให้ไปศึกษา สัญญาก่อสร้าง สัญญาจ้างที่ปรึกษา สัญญาจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งสัญญาทางปกครองมีลักษณะที่แตกต่างไปจากสัญญาทางแพ่ง ที่เข้าใจกันโดยปกติทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสถานะของคู่สัญญาที่กฎหมายให้อำนาจแก่ฝ่ายปกครองเหนือกว่าฝ่ายเอกชน วัตถุประสงค์ที่เป็นไปเพื่อการให้บริการสาธารณะ และมีลักษณะการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาได้เสมอเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสัญญา จึงมีความจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องดังกล่าว ทั้งในทางหลักการหรือทฤษฎี หลักกฎหมาย แนวปฏิบัติและแนวคำวินิจฉัยของศาล เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินงานทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้การจัดทำสัญญาทางปกครองเป็นไปอย่างถูกต้อง และให้การบริหารสัญญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบริหารจัดการเรื่องดังกล่าวให้เกิดความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล (Good governance) ฝ่ายกิจการพิเศษ และกองกฎหมาย จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย ด้วยมุ่งหวังให้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยและการดำเนินงานของทุกส่วนงานเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้การดำเนินงานตามพันธกิจบรรลุเป้าหมายที่วางไว้อย่างสมบูรณ์แบบนับเป็นโอกาสที่บุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะได้รับการพัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเพื่อให้การปฏิบัติงานในทุกระดับเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย
ข่าว/ภาพ : กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น