คำสั่งทางปกครองที่ให้โอกาสโต้แย้งเพียง 1 วัน เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

0
4288

          ในการออกคำสั่งทางปกครองนั้น การรับฟังคู่กรณีถือเป็นสาระสำคัญในกระบวนการพิจารณาทางปกครองก่อนออกคำสั่ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้คู่กรณีได้มีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน และเสนอข้อเท็จจริงต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อให้มีข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ อันจะส่งผลให้คำสั่งทางปกครองมีความถูกต้องมากที่สุด และหลายท่านอาจสงสัยว่า หากคำสั่งทางปกครอง ซึ่งไม่ได้มีการรับฟังคู่กรณีโดยไม่มีเหตุยกเว้นตามกฎหมาย หรือรับฟังอยู่แต่มีระยะเวลาในการให้คู่กรณีโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานในระยะเวลาอันสั้น กรณีเช่นนี้จะทำให้คำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

            ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ มีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2546 เวลา 00.45 นาฬิกา นายอำเภอพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร่วมกันตรวจสอบสถานบริการของผู้ฟ้องคดี แล้วพบว่า ได้มีการยินยอมให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์เข้าใช้บริการ ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 จากนั้นเวลาประมาณ 15 นาฬิกา ในวันเดียวกัน นายอำเภอได้มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีว่าจะเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาต โดยระบุว่า หากผู้ฟ้องคดีประสงค์จะโต้แย้งหรือแสดงพยานหลักฐาน ให้แจ้งภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2546 เวลา 12 นาฬิกา ซึ่งในวันเดียวกันนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก็ได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตั้งสถานบริการของผู้ฟ้องคดี ต่อมา ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตั้งสถานบริการ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับสถานบริการได้พิจารณาให้ยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การกำหนดระยะเวลาให้โต้แย้งหรือแสดงพยานหลักฐานเพียงไม่กี่ชั่วโมง ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถที่จะทราบข้อเท็จจริงได้อย่างเพียงพอ กรณีจึงยังไม่เป็นการเปิดโอกาสให้มีการโต้แย้งหรือแสดงพยานหลักฐานก่อนออกคำสั่งทางปกครอง จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอน
             ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นคำสั่งทางปกครอง และหลักเกณฑ์และการดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งแม้ว่าพระราชบัญญัติดังกล่าว จะไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการให้โอกาสแก่คู่กรณีได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานไว้อย่างชัดแจ้งก็ตาม แต่ผู้พิจารณาออกคำสั่งทางปกครองก็ควรกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมและเพียงพอที่คู่กรณีจะได้รวบรวมพยานหลักฐานและโต้แย้งประเด็นในเรื่องพิพาท ซึ่งนอกจากจะเป็นการปกป้องคู่กรณีจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐยังได้ตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านอีกด้วย ดังนั้น การกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีได้มีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานเพียงแค่วันเดียว ถือว่าเป็นระยะเวลาที่เร่งรัดจนเกินไปและไม่มีความเหมาะสมตามสภาพความเป็นจริง อันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ซึ่งถือได้ว่ายังมิได้ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีได้รับทราบข้อเท็จจริงและมีโอกาสได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม จึงเป็นกรณีที่ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่มาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กำหนดไว้
            ดังนั้น คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
_____________
ขอบคุณเพจ กฎหมายใกล้มอ
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 825/2558
สายด่วนศาลปกครอง โทร. 1355